โลโก้เว็บไซต์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   | วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 12 ตุลาคม 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 15466 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

 พระราชทานนามราชมงคล

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาว ราชมงคลเป็นล้นพ้น  กล่าวคือ  หากย้อนไปเมื่อสมัย ๓๐ ปีก่อน วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาได้ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช ๒๕๑๘” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ ๒๗  กุมภาพันธ์   ๒๕๑๘ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม             

           เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ  ๕  รอบและด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเมตตาต่อวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  โดยเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยด้วยพระองค์เองทุกครั้ง  ยังความปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สภาวิทยาลัย ฯ เห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยฯ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการลงวันที่  ๑๕ กันยายน  ๒๕๓๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนาม “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ซึ่งหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา และเปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช  ๒๕๑๘  เป็นพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  พุทธศักราช ๒๕๑๘  และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ฉบับพิเศษ  วันที่  ๑๘  สิงหาคม  ๒๕๓๒  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  ๑๙  สิงหาคม  ๒๕๓๒  เป็นต้นมา

ราชมงคลล้านนา  ตราสัญลักษณ์

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มาเป็นเครื่องหมายราชการมีลักษณะเป็นตรารูปวงกลมมีดอกบัว ๘ กลีบล้อมรอบ  หมายถึงทางแห่งความสำเร็จมรรค ๘ และความสดชื่น เบิกบานที่ก่อให้เกิดปัญญาแผ่ขจรไปทั่วสารทิศ   ภายในดอกบัวเป็นดวงตราพระราชลัญจกรบรรจุอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายประจำองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่  ๙ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานนาม  “ ราชมงคล”  บนตรารูปวงกลมมีพระมหาพิชัยมงกุฎครอบและมีเลข ๙    บรรจุอยู่ หมายถึงรัชกาลที่ ๙   ด้านล่างของตรารูปวงกลมทำเป็นกรอบโค้งรองรับ    มีชื่อมหาวิทยาลัยบรรจุอยู่ภายในว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา” คั่นปิดหัวท้ายของกรอบด้วยลวดลายดอกไม้ทิพย์ประจำยามทั้งสองข้าง   ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

มิ่งมหามงคลแห่งบัณฑิต

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช  ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่สวนอัมพรเป็นครั้งปฐมฤกษ์  ในวันที่  ๒๙ – ๓๑  กรกฎาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๔ ยังความปลื้มปิติและความภาคภูมิใจแก่บัณฑิตและคณาจารย์อย่างหาที่สุดมิได้  ที่นักเรียนสายอาชีวศึกษาสำเร็จเป็นบัณฑิตแล้วมีโอกาสรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 

          การพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่  ๒  ปีพุทธศักราช  ๒๕๒๗  และครั้งที่  ๓  ปีพุทธศักราช  ๒๕๓๐  นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้น

          การพระราชทานปริญญาบัตร  ครั้งที่  ๔  เมื่อวันที่  ๑๙-๒๑ กรกฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๓๓  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้เสด็จมาเพียงพระองค์เดียว   ซึ่งเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรในนาม “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”  

ต่อมาการพระราชทานปริญญาบัตร  ครั้งที่ ๕ ปีพุทธศักราช  ๒๕๓๔  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นครั้งแรกและต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจวบจนปัจจุบัน

          ซึ่งในการพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่  ๑๑  ปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้เปลี่ยนสถานที่จัดพิธีจากอาคารใหม่สวนอัมพร เป็นหอประชุมใหญ่ศูนย์กลางสถาบัน ฯ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี  จนถึงถึงปีพุทธศักราช  ๒๕๔๘  “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”  ได้สถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล”   ดังนั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่  ๑๙  วันที่  ๑๓-๑๕  กันยายน  พุทธศักราช  ๒๕๔๘  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีซึ่งนับว่าเป็นการจัดพิธีในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นครั้งแรก        

        การพระราชทานปริญญาบัตรแต่ละครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต   ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการทำงาน   เพื่อ กระตุ้นจิตสำนึกให้บัณฑิตนำความรู้ความสามารถไปใช้ สร้างสรรค์พัฒนาสังคมอย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิต เมื่อครั้งปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ ความตอนหนึ่งว่า  “...บัณฑิตแต่ละคนที่สำเร็จการศึกษาแล้วจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเกิดขึ้นผูกพันทันที ในอันที่จะต้องทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองตามความถนัดของตน  ข้าพเจ้าใคร่จะทำความเข้าใจกับทุกคนว่า  ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีนั้น                     จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือทำ  หมายความว่าจะต้องนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้นมาใช้งาน  ลงมือเมื่อไหร่เพียงใด  ประโยชน์จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น เพียงนั้น  เมื่อยังไม่ลงมือทำประโยชน์ก็ยังไม่เกิดขึ้น  เพราะฉะนั้นถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมากมายสักเพียงใด  ถ้าไม่ลงมือทำ ก็ปราศจากประโยชน์  บ้านเมืองของเราเวลานี้อยู่ในสภาวะที่ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองอย่างรวดเร็วในทุกๆทาง  เพื่อให้สามารถก้าวไปทันผู้อื่นเขาได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยทุกคน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ จึงต้องขวนขวายทำงานให้เต็มกำลัง…”

         พิธีพระราชทานปริญญาบัตร  ครั้งที่ ๒๑  วันที่  ๙  พฤศจิกายน  พุทธศักราช  ๒๕๔๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตว่า  “ การให้การศึกษานั้น  มีเป้าหมายสำคัญที่จะปลูกฝังความเจริญงอกงามให้แก่บุคคล  ให้พร้อมทุกด้าน  คือให้มีความรู้ในวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง  และให้มีคุณธรรมความดีประกอบอยู่ด้วย  เพื่อเป็นรากฐานส่งเสริมให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ความรู้กับคุณธรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีเสมอกัน  ทั้งจำเป็นต้องใช้ควบคู่กันเสมอ  มิฉะนั้นจะหวังผลอันพึงประสงค์ไม่ได้  ข้อนี้ถ้าพิจารณาให้ดี  ก็จะเห็นจริงว่า  คนที่มากด้วยความรู้ความสามารถแต่ขาดคุณธรรมนั้น  เป็นภัยเพียงใด  คนดีเปี่ยมคุณธรรมแต่ขาดความรู้ความเฉลียวฉลาดก็ไม่อาจทำงานใหญ่ที่สำคัญ ๆ ให้สำเร็จได้เช่นกัน  จึงขอให้บัณฑิตทุกคนได้ศึกษาเรื่องความรู้  และคุณธรรมที่กล่าวมาให้ทราบชัด  แล้วฝึกหัดอบรมให้มีสมบูรณ์พร้อมขึ้นในตน  จักได้ปฏิบัติตน  ปฏิบัติงานทุกอย่าง  ให้บังเกิดเป็นประโยชน์อันแท้จริงทั้งแก่ตนและแก่ส่วนรวมต่อไป ”

          นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ทรงมีต่อบัณฑิต ตลอดจนนักศึกษา  ข้าราชการและคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ที่จะขอน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม อัญเชิญไว้เป็นเครื่องเตือนใจและนำไปปฏิบัติให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์และพระประสงค์ เพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองสืบไป

สนองงานตามแนวพระราชดำริ

ราชมงคลล้านนา จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2512 เริ่มต้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน ในระยะเริ่มต้น โครงการหลวงจึงเริ่มดำเนินงานวิจัยเพื่อทดลองการปลูกไม้ผลเมืองหนาวที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทยและได้ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเพื่อเป็นสถานีทดลองการปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ในบริเวณหุบเขาสูงของดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

          “ศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อมูลนิธิโครงการหลวงและกิจกรรมวิชาการ” เกิดขึ้นภายใต้กรอบการทำงาน “วิศวกรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่องานเกษตรกรรม” (Engineering Energy and Environment for Agriculture : 3Es for A) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโครงการหลวงและมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545  มูลนิธิโครงการหลวงประกอบด้วยสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงจำนวน 38 แห่ง ในเขตจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยาและลำพูน ใน 20 อำเภอ 275 หมู่บ้านและประชากร 100,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ  2,000 ตารางกิโลเมตร  เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้านการศึกษา สังคม สาธารณสุข วิจัยพืชและปศุสัตว์เมืองหนาว และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร

เฉลิมพระเกียรติ ๘๐  พรรษา

           ในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี  และมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ระดมสรรพกำลังอาจารย์  นักวิชาการ  ศิลปินและบุคลากรทุกส่วน  จัดสร้างแจกันศิลปกรรมเฉลิมพระเกียรติ จำนวน ๙ ใบ  ขนาดฐานกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๑ เมตร ๑๐ เซนติเมตร กว้าง ๕๕ เซนติเมตร พร้อมจารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ   ประกอบบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติตามลำดับเหตุการณ์  ดังนี้

แจกันใบที่   ๑  “เมื่อครั้งทรงพระเยาว์”

ธ  ทรงเป็นร่มเกล้าชาวสยาม                 เสด็จสู่เขตคามสวัสดิศรี

ประสูติในราชวงศ์จักรี                                  นฤบดีภูมิพลล้นเกล้าไทย

แจกันใบที่  ๒    “สืบราชสันตติวงศ์”

ราชาภิเษกพระผ่านเกล้าเจ้าชีวิต             ทศทิศนบองค์ทรงพิศาล

ครองแผ่นดินโดยธรรมนำบันดาล                      พระภูบาลประกาศก้องทั่วสากล

แจกันใบที่  ๓ “พระคู่บารมี”

รัตนนารีศรีสยาม                    ทรงพระนามสิริกิติวิจิตรสมัย

พระมิ่งขวัญเคียงคู่ภูวนัย                                ปวงข้าไทยแซ่ซ้องสดุดี

แจกันใบที่ ๔  “เย็นศิระ ธ คุ้มเกล้า”

เย็นศิระ  ธ ป้องปกเกศ                       จอมนเรศอภิบาลบันดาลผล

พระมิ่งขวัญดุจเทพบันดาลดล                          นิกรดลนิราศทุกข์สุขด้วยกัน

แจกันใบที่ ๕ “องค์อัครศาสนูปถัมป์”

พระเมตตาปรานีต่อทวยราษฎร์              บำรุงศาสน์บำรุงเขตพิเศษศานติ์

พุทธธรรมล้ำค่ามาประทาน                            คุ้มครองบ้านเมืองเย็นอยู่เป็นไท

แจกันใบที่ ๖  “พระอัจฉริยภาพ”

งามพระอัจฉริยะศิลป์                         ภูวนาถเอกองค์ธำรงศิลป์

รังสรรค์งานแบบอย่างศิลปิน                           จอมนรินทร์ขวัญเกล้านิกรชน

แจกันใบที่ ๗ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

ธ  ทรงเป็นแบบอย่างของนักคิด              ธ  ประดิษฐ์นวัตกรรมนำสมัย

ดิน  น้ำ  ฝน  พัฒนาเกษตรไทย                       ให้ก้าวไกลแกร่งกล้าสู่สากล

 

 

แจกันใบที่ ๘  “เทิดไท้เหนือเกล้าชาวไทย”

รอยพระบาทยาตรายังจารึก                  น้อมสำนึกพระเมตตามหาศาล

เย็นศิระเพราะพระบริบาล                    ทั่วสถานถิ่นแคว้นแผ่นดินไทย

แจกันใบที่ ๙   “เสด็จออกมหาสมาคม”

หกสิบปี ธ ครองราชย์ชาติยิ่งใหญ่            ประชาไทยปรีดิ์เปรมเกษมสันต์

          เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชีวัน                             สมานฉันท์สังคมอยู่ร่มเย็







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา