โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จัดประชุมคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 วางแผนพัฒนามทร.ล้านนา ตาก สู่ศูนย์กลางการศึกษาชายแดน รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ | วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ

มทร.ล้านนา จัดประชุมคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 วางแผนพัฒนามทร.ล้านนา ตาก สู่ศูนย์กลางการศึกษาชายแดน รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 4 พฤศจิกายน 2567 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 799 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดประชุมคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงแรม เดอะพีค อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2567  นำโดย รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา มทร.ล้านนา ตาก ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาชายแดนที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

     การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ""เหลียวหลัง แลหน้า เพื่ออนาคต มทร.ล้านนา ตาก"" โดยมุ่งเน้นการพัฒนา พลิกโฉมมหาวิทยาลัยในหลายมิติ ทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตร การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างทักษะเชิงวิชาชีพให้กับนักศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจชายแดนและสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับนักศึกษาโดยการดำเนินการครั้งนี้ คณะผู้บริหารลงพื้นที่ศึกษาและหารือกับสถานประกอบการชายแดน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดน คณะผู้บริหารได้ทำการศึกษาดูงานในสถานประกอบการสำคัญของจังหวัดตาก เช่น บริษัทห้าแยกกรุ๊ป 2559 จำกัด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยมี คุณอุดม สุขสด ให้การต้อนรับ รวมถึงด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 โดยมี นายพันแสน หลวงศักดิ์ดา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสะพานมิตรภาพฯ ให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการขนส่งสินค้า การตรวจสอบ และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ พร้อมส่งเสริมให้นักศึกษามีความพร้อมในการทำงานในสายงานโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ

     โดยหลังจากการศึกษาดูงาน คณะผู้บริหารได้เข้าสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ workshop เพื่อสรุปทิศทางการพัฒนา มทร.ล้านนา ตาก อาทิ

        1.การพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
        มทร.ล้านนา ตาก มุ่งเน้นการปรับปรุงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ การจัดการธุรกิจข้ามพรมแดน และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อรองรับความต้องการแรงงานในพื้นที่ชายแดน โดยเพิ่มทักษะเชิงปฏิบัติและนวัตกรรมในหลักสูตรให้นักศึกษาสามารถปรับตัวเข้ากับโลกการทำงานจริง

        2.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่
        มทร.ล้านนา ตาก ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดน เพื่อพัฒนาหลักสูตร การฝึกงาน และการวิจัยร่วมที่ช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังช่วยสร้างช่องทางการจ้างงานที่ตรงกับทักษะของบัณฑิต
       3.การจัดตั้งศูนย์ต้านภัยพิบัติและการพัฒนาชุมชน
        มทร.ล้านนา ตาก ได้กำหนดแผนการจัดตั้งโครงการ/ศูนย์ ต้านการจัดการภัยพิบัติและการพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ โครงการนี้จะรวมถึงการฝึกอบรมและการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยั่งยืน

     4.โครงการเกษตรแปลงใหญ่ (Plant Economic)
      มทร.ล้านนา ตาก จะสนับสนุนการพัฒนาโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเกษตร ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

     5.โครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูดอ่านเขียนภาษาไทย (Move)
    เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยและทักษะด้านเทคโนโลยี ของเด็กนักเรียนด้อยโอกาสในถิ่นธุระกันดาร โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการพูดอ่านเขียนภาษาไทยผสานการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี ให้นักเรียนมีความเข้มแแข็งและเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น

         การประชุมคณะกรรมการบริหาร มทร.ล้านนา ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดทิศทางและแผนพัฒนา มทร.ล้านนา ตาก ให้สอดคล้องกับการเติบโตบนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นกรอบในการพัฒนา มทร.ล้านนา ตาก ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจ และการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน จะช่วยให้นักศึกษาและบัณฑิตมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการค้าชายแดน







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon