โลโก้เว็บไซต์ บุคลากรวิทยาลัยฯ ประชุมวิพากษ์ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิงานสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขิน ชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ | วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ

บุคลากรวิทยาลัยฯ ประชุมวิพากษ์ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิงานสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขิน ชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 22 สิงหาคม 2566 โดย นายนิพนธ์ เขื่อนแก้ว จำนวนผู้เข้าชม 711 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมซอมพอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

อ.พงศกร สงวนศักดิ์ , อ.วราภรณ์ ทองสว่าง และ อ.อชิรวิชญ์ เชื้อคำ อ. กลุ่มศึกษาทั่วไป ประจำวิทยาลัยฯ ประชุมวิพากษ์ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิงานสืบสานภูมิปัญญาวัฒธรรมไทเขิน ชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ณ ห้องประชุมซอมพอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

 #การเสวนาเชิงวิชาการ_และวิพากษ์หลักสูตรท้องถิ่น

เพื่อการสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขิน ของชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน ร่วมเสวนาในครั้งนี้

.

1. อาจารย์ชัยปฐมพร ธนพัฒน์ปวงวัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

2. อาจารย์วิถี พานิชพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีล้านนา อดีตรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนทรี คนเที่ยง หัวหน้าสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ อยู่ภายใต้แผนงานโครงการวิจัยย่อยที่ 3 “การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขินของชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่” ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (Fundamental Fund; FF) กลุ่มโครงการนวัตกรรม โดยนักวิจัยของวิทยาลัยฯ คือ อาจารย์อชิรวิชญ์ เชื้อคำ, อาจารย์วราภรณ์ ทองสว่าง และอาจารย์พงศกร สงวนศักดิ์ โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาวัฒนธรรมไทเขินและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา 2) เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องวัฒนธรรมไทเขินและใช้บูรณาการกับหลักสูตรสถานศึกษา และ 3) เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด และเผยแพร่ภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขินของชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

 

โดยในแผนงานวิจัย : การจัดการองค์ความรู้ทุนทางวัฒนธรรมไทเขิน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ (Knowledge Management of Tai Khun Cultural Capital to Raise the Local Economy of Ban Pa Pong community, Doi Saket District, Chiang Mai Province) จะมีโครงการย่อยทั้งหมด 3 โครงการ คือ.....

 

1) โครงการออกแบบและพัฒนาคลังข้อมูลวัฒนธรรม ดิจิทัลไทเขินและจัดทำแผนที่วัฒนธรรมไทเขิน บ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

2) โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสภาพภูมิ สังคมสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชน ไทเขิน บ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

3) โครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขินของชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

 

เนื้อหาในการเสวนา ทีมวิจัยนำเสนอ (ร่าง) หลักสูตรฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิให้ความคิดเห็นกับ (ร่าง) หลักสูตรฯ ซึ่งจะมีเนื้อหาทั้งหมด 5 บทเรียน ดังนี้

เนื้อหาที่ 1 : เรียนรู้ภาษาไทเขิน

เนื้อหาที่ 2 : รู้จักเครื่องเขินเดินตามรอยวิถีไทเขิน

เนื้อหาที่ 3 : อาหารกับวิถีชีวิตไทเขินในดอยสะเก็ด

เนื้อหาที่ 4 : โรคภัยไข้เจ็บกับภูมิปัญญาไทเขินในการรักษา

เนื้อหาที่ 5 : เครื่องนุ่งห่มบ่มเพาะภูมิปัญญาไทเขิน

 

สาระสำคัญของงานวิจัย :

ชุมชนบ้านป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชาติพันธุ์ไทเขินได้อพยพจากเมืองเชียงตุงเข้ามาตั้งถิ่นฐานพำนักอาศัย จากประวัติการตั้งบ้านป่าป้อง บันทึกไว้ว่า ชาวไทเขินบ้านป่าป้องอพยพมาจากเมืองเชียงตุงราวปี พ.ศ.2354 โดยได้อพยพตามเสด็จพระมหากษัตริย์แห่งเมืองเชียงตุง คือ เจ้าฟ้าหลวงเขมรัฐมหาสิงหบวรสุธรรมราชาธิราช กษัตริย์ลำดับที่ 33 ลงมายังเมืองเชียงใหม่ ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ ผู้ครองนครเชียงใหม่ ที่ได้กวาดต้อนผู้คนในหัวเมืองทางทิศเหนือลงมาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง เหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าป่าป้อง เนื่องจากชาวไทเขินกลุ่มแรกที่มาอยู่ที่บ้านป่าป้อง อพยพลงมาจาก บ้านป้อง เมืองเชียงตุง แคว้นฉาน ทางตอนเหนือของประเทศพม่า เมื่อมาอยู่ที่ไทยจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อหมู่บ้านเดิมที่เมืองเชียงตุง ปัจจุบันคือ บ้านป่าป้อง หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (วีระชาติ พาจรทิศ, 2553)

การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับสถานศึกษานั้นส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของผู้เรียนตามจุดมุ่งหมายของการศึกษา มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์ว่า ผู้เรียนและสังคมควรจะได้รับสิ่งใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนโดยตรง เป็นเครื่องกำหนดว่า เนื้อหาวิชาอะไรบ้างที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น กำหนดแนวทางความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ ทักษะและเจตคติของผู้เรียนที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและชาติบ้านเมือง

จากความสำคัญของหลักสูตรหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับสถานศึกษาที่กล่าวมาแล้ว คณะนักวิจัยจึงเห็นว่า การจัดการองค์ความรู้ทุนทางวัฒนธรรมไทเขิน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนบ้านป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่นั้น ต้องมีการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อเป็นการขยายผลสู่สถานศึกษา และในขั้นตอนการสร้างหลักสูตรนั้น จำเป็นต้องมีการออกแบบรายวิชาตามเป้าหมายของหลักสูตรโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของเนื้อหากับช่วงวัยของผู้เรียน มีการทบทวนหรือสร้างแหล่งเรียนรู้ และจัดทำหน่วยการเรียนรู้เพื่อวางโครงการสอน กำหนดวัตถุประสงค์ในแต่ละรายวิชาเพื่อเป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ซึ่งในกระบวนการจัดการเรียนการสอนนั้น การเลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ก็มีความสำคัญ ควรมีการเลือกสื่อที่เหมาะสมและเป็นสื่อที่ส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรจากข้อมูลที่ได้เก็บข้อมูล ร่วมกับปราชญ์ชุมชน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างเป็นหลักสูตรอย่างน้อย 1 หลักสูตร ขยายผลร่วมกับครูและบุคลากรในสถานศึกษาสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การอาชีวศึกษา ให้สามารถบูรณาการจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับรายวิชาเพิ่มเติม หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสถานศึกษา รวมถึงการส่งต่อความรู้นั้นให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ต่อยอดและสืบสานต่อไป

#ดอยสะเก็ดบ้านเฮา #ไทเขินป่าป้อง #วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ #ราชมงคลล้านนา #สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาชุมชน #ศูนย์พัฒนานวัตกรชุมชน #CISAT_RMUTL #CIDC







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon