โลโก้เว็บไซต์ วิทยาลัยฯ จัดกิจกรรมทำแนวกันไฟเขตป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว | วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ

วิทยาลัยฯ จัดกิจกรรมทำแนวกันไฟเขตป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 26 มกราคม 2567 โดย สิริญญา ณ นคร จำนวนผู้เข้าชม 439 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ดร. นพดล มณีเทียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย อาจารย์ สิทธิศักดิ์ ยี่ยวน รองผู้อำนวยการฯ อาจารย์ คทาชา ศรีฟ้าเลื่อน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ และคณาจารย์ ได้นำนักศึกษาหลักสูตรเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1และ 2 เตรียมบริหารธุรกิจ ชั้นปีที่ 2 จำนวน 112 ราย เข้าร่วมกิจกรรมทำแนวกันไฟบริเวณเขตป่าชุมชนและเขตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการดูแลป่าต้นน้ำห้วยต้นยาง ของชุมชนทุ่งยาว ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาป่า คงธรรมชาติ เป็นการเพิ่มจำนวนคาร์บอนเครดิตให้กับพื้นที่ป่าชุมชนโดยรอบของมหาวิทยาลัยฯ และเป็นหนึ่งในมาตรการเสริมที่ทำควบคู่กับการควบคุมเพลิงตามปกติเพื่อลดโอกาสหรือป้องกันไม่ให้ไฟแผ่ขยายไปไกลเกินกำลังการรับมือของเจ้าหน้าที่หากเกิดอัคคีภัยขึ้น โครงการนี้เป็นการบูรณาการร่วมกัน 2 ฝ่าย คือ

  1. วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการโดย ดร.ปวียา รักนิ่ม เป็นผู้ประสานงานทางการดำเนินการพร้อมด้วย อาจารย์ อชิรวิชญ์ เชื้อคำ และ ดร. อดิศร โอดศรี ร่วมเตรียมการ   
  2. ชุมชนตำบลป่าป้องโดย นายสมพงค์ เจริญศิริ ประธานป่าชุมนบ้านทุ่งยาว และกำนัน ต. ป่าป้อง อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ เป็นแกนนำและกำกับการทำงานในระดับชุนชนซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ จัดเตรียมเสบียงอาหาร น้ำดื่มและอุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับการปฏิบัติการจริง รวมถึงให้ความรู้แก่คณาจารย์ คณะนักศึกษา กลุ่มผู้แทนชุมชน

แนวกันไฟ (firebreak) เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายแล้ว หมายถึง ช่องว่างแนวยาวในป่าหรือช่องว่างระหว่างกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่มีความกว้างมากพอที่จะป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามต่อเนื่องในกรณีที่เกิดไฟป่า มี 2 ประเภท คือ 1) แนวกันไฟตามธรรมชาติ เช่น ลำธาร ลำห้วย แม่น้ำ หุบเหว 2) แนวกันไฟที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น แนวกันไฟเพื่อการป้องกันไฟโดยเฉพาะ รวมถึงผลพวงจากการถางทางเพื่อสร้างทางเดิน ถนน เป็นต้น หากไม่นับถึงลักษณะภูมิประเทศและปัจจัยที่เป็นเชื้อไฟในพื้นที่ประสิทธิภาพของแนวกันไฟตามแนวคิดพื้นฐานมักมีความกว้างของแนวเป็นตัวแปรหลัก กล่าวคือ ยิ่งแนวหรือช่องว่างยิ่งกว้างเท่าใดก็จะสามารถกันไฟได้เด็ดขาดได้มากเท่านั้นและหากใช้ความชื้นหรือความเปียกเข้าร่วมก็จะยิ่งทรงประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งนี้ ผลิผลที่ได้รับจากการนำคณะนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นแนวทางในการร่วมปกป้อง ร่วมรักษาระบบนิเวศทางบก ร่วมจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นสัดส่วนของการสร้างชุมชน-สถานศึกษาให้มีความปลอดภัยอีกด้วย







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon