เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 23 มกราคม 2566 โดย นายนิพนธ์ เขื่อนแก้ว จำนวนผู้เข้าชม 306 คน
วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 และ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566
บุคลากรวิทยาลัยฯ ลงพื้นที่ ศึกษาความสำเร็จในการจัดการทุนทางวัฒนธรรมต้นแบบ ในโครงการวิจัยการจัดการองค์ความรู้ทุนทางวัฒนธรรมไทเขิน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนบ้านป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ : Knowledge Management of Tai Khun Cultural Capital to Raise the Local Economy of Ban Pa Pong Community, Doi Saket District, Chiang Mai Province.
โดยในอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลทางด้านวิจัยฯ ณ หมู่บ้านสันก้างปลา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และในวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านต้นแหนน้อย อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนหมู่บ้านให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทเขิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของหมู่บ้านมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ บุคลากรวิทยาลัยฯ ได้ศึกษาและเก็บข้อมูล เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการจัดตั้งและยกระดับเศรษฐกิจ ของหมู่บ้านชุมชนบ้านป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ต่อไป
ทำความรู้จักกับ ไทเขิน
ไทเขิน หรือ ไทขึน เป็นชนชาติหนึ่งที่เรียกตนเองตามพื้นที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำ “ขึน หรือ ขืน” ถือเป็นรัฐที่อยู่ในหุบเขา โดยมีเมืองเชียงตุงเป็นศูนย์กลาง ในเขตการปกครองของรัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ ไทเขินที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง เป็นกลุ่มไทที่มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากกลุ่มไทใหญ่ในรัฐฉาน ทั้งนี้แม้จะอยู่ในเขตรัฐฉานแต่ไทเขินก็มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่น ไทยวน และไทลื้อ เป็นต้น ซึ่งทำให้รากฐานทางภาษา สังคม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะความเชื่อความศรัทธาในเรื่องผีผสมผสานกับพระพระพุทธศาสนา
ภาษาเขียนของชาวไทเขินได้รับมาจากอักษรธรรมล้านนา ที่ชาวไทยวนล้านนาเข้าไปเผยแพร่พร้อมกับรากฐานทางพุทธศาสนา ส่วนภาษาพูดมีความใกล้เคียงกับภาษาไทลื้อ และไทยอง ด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่โดยทั่วไปชาวไทเขินมักทำการเกษตร ปลูกข้าว พืชผัก เลี้ยงสัตว์อย่างพอเพียงในครอบครัว และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในสังคมแบบเครือญาติ
ในอดีตชาวไทเขินบางส่วนถูกกวาดต้อนลงมายังอำเภอเมือง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวไทเขินกลุ่มนี้มีความสามารถในการทำงานหัตถกรรมประเภทเครื่องเงิน เครื่องเขิน ส่วนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่หลงเหลือคือ การสร้างเรือนไทเขิน เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง หลังคาเรือนทรงจั่วปีกหลังคายื่นยาวเหมือนเรือนไทลื้อในสิบสองปันนา เมื่อย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ผสมผสานเรือนแบบหลังคาสองจั่วตามแบบเรือนไทยวนมาด้วย ทั้งนี้ชาวไทเขินที่อยู่ในอำเภอสันป่าตองยังมีภาษาพูดแบบไทเขินที่ใช้สืบต่อกันมา
การแต่งกายของสตรีชาวไทเขินนิยมสวมเสื้อปั๊ดผ้าแพรสีอ่อน เช่น สีชมพู สีขาว สีเหลือง สีครีม นุ่งซิ่นต๋าลื้อหรือต๋าโยนต่อตีนเขียว หากเป็นสตรีชนชั้นสูงจะนุ่งซิ่นไหมคำตีนบัวปักโลหะในโอกาสพิเศษ เกล้ามวยผมไว้กลางกระหม่อมและเคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู ส่วนบุรุษนิยมสวมเสื้อแขนยาว คอกลมหรือคอตั้ง กระดุมผ่าหน้า สวมกางเกงสะดอ และเคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาวหรือสีชมพู
ขอบคุณเนื้อหาจาก : คุณฐาปนีย์ เครือระยา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอบคุณภาพจาก : อ.สิทธิศักดิ์ ยี่ยวน
คลังรูปภาพ : บุคลากรวิทยาลัย-ลงพื้นที่ศึกษาโครงการวิจัยไทเขิน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา